ยินดีต้อนรับสู่การท่องเที่ยวสบายๆ ในวันพิเศษกับคนพิเศษ


วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แฟร์เนา เมนเดส ปินโต

แฟร์เนา เมนเดส ปินโต

  • ประวัติของปินโต
       ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583
  • รูปแบบการนำเสนอ
      งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531: 115) เป็นต้น ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้
  • คุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
      บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาททางการทหารของชุมชนโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546) เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า “ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่น
สัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”
การเข้าร่วมรบในกองทัพสยามครั้งนั้นเป็นการถูกเกณฑ์ หากไม่เข้าร่วมรบก็จะถูกขับออกไปภายใน 3 วัน ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน อาสาเข้าร่วมรบในกองทัพสยาม เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็นศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นในค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปี แม้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงอ้างจากหนังสือของปินโตก็ตาม
  • สรุป
      ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง งานของปินโตถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของเขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ เคยได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำในเรื่องศักราชและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (นิธิ, 2525 : 65) แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์บางท่านก็เคยตั้งข้อสงสัยต่อสถานภาพดังกล่าว (นิธิ, 2525 : 6) ซึ่งถือเป็นความไม่เที่ยงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้

ที่มา: http://bidyarcharn.blogspot.com/2010/06/395.html
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร Bidya Sriwattanasarn

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ



การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คำว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นศัพท์บัญญัติที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยให้มีความหมายตรงกับคำว่า Ecotourism ในภาษาอังกฤษ ศัพท์บัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบจากราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติศัพท์แล้ว
Ecotourism เป็นคำที่เกิดใหม่ในวงการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำคำ ๒ คำมารวมกัน ได้แก่ eco และ tourism คำว่า eco แปลตามรูปศัพท์ว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย ส่วน tourism แปลว่า การท่องเที่ยว ecotourism จึงแปลว่า การท่องเที่ยวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หมายความถึง การท่องเที่ยวที่เน้นในด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์
ส่วนคำว่า นิเวศ ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย ก็แปลว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัยเช่นกัน (ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ฉะนั้น การท่องเที่ยว เชิงนิเวศจึงเป็นศัพท์บัญญัติที่มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษอย่างเหมาะสม
นอกจากคำว่า ecotourism แล้ว ยังมีคำอื่นๆที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้อง กันอีกหลายคำ ได้แก่

green tourism แปลว่า การท่องเที่ยวสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติ โดยสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

biotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการศึกษาสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ

agrotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของพืชผลไร่นา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร